เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ 5. ทิฏฐิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ทั้งหมดนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่
ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
อานนท์ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อม
เบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อานันทสูตรที่ 10 จบ
ทิฏฐิวรรคที่ 5 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อัชฌัตตสูตร 2. เอตังมมสูตร
3. โสอัตตาสูตร 4. โนจเมสิยาสูตร
5. มิจฉาทิฏฐิสูตร 6. สักกายทิฏฐิสูตร
7. อัตตานุทิฏฐิสูตร 8. อภินิเวสสูตร
9. ทุติยอภินิเวสสูตร 10. อานันทสูตร

อุปริปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

รวมวรรคที่มีในอุปริปัณณาสก์นี้ คือ

1. อันตวรรค 2. ธัมมกถิกวรรค
3. อวิชชาวรรค 4. กุกกุฬวรรค
5. ทิฏฐิวรรค

รวม 5 วรรค เรียกว่า ตติยปัณณาสก์
ขันธสังยุต จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [2. ราธสังยุต]
1. ปฐมวรรค 1. มารสูตร

2. ราธสังยุต
1. ปฐมวรรค
หมวดที่ 1
1. มารสูตร
ว่าด้วยมาร

[160] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘มาร มาร’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
พระองค์จึงตรัสว่า ‘มาร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ เมื่อมีรูป จึงมีมาร มีผู้ทำให้ตาย
หรือมีผู้ตาย เพราะฉะนั้น เธอจงเห็นรูปว่า ‘เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย
เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นเหตุเกิดแห่งของลำบาก’
บุคคลเหล่าใดเห็นรูปนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าย่อมเห็นชอบ
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ จึงมีมาร มีผู้ทำให้ตาย หรือมีผู้ตาย เพราะฉะนั้น เธอจง
เห็นวิญญาณว่า ‘เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี
เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นเหตุเกิดแห่งของลำบาก’ บุคคลเหล่าใดเห็น
วิญญาณนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าย่อมเห็นชอบ”
“ก็ความเห็นชอบมีประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ราธะ ความเห็นชอบมีประโยชน์ทำให้เบื่อหน่าย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :253 }